ปี 2566 มนุษย์เงินเดือนวางแผนภาษีอย่างไรดี?

 เข้าสู่ช่วงปลายปี หลายคนคงเริ่มวางแผนภาษีประจำปีกันแล้วใช่ไหมครับ สำหรับมือใหม่เรื่องภาษีต้องบอกว่า วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากเงินเดือนเป็นหลักนั้น คำนวนจากสิ่งที่เรียกว่า เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี โดยอัตราภาษีอยู่ในรูปแบบขั้นบันได ดังนี้

ซึ่งเงินได้สุทธิที่ว่า มาจากเงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน ที่กำหนดวิธีคำนวณไว้ตามกฎหมาย แต่ปัญหา คือ มนุษย์เงินเดือนถูกจำกัดให้หักค่าใช้จ่ายจากรายได้ที่เป็นเงินเดือน ได้สูงสุด คือ 50% ของเงินได้ไม่เกิน 100,000 บาท ก็คือ ใครก็ตามที่มีรายได้จากเงินเดือนเกินกว่า 200,000 บาทต่อปี จะสามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้สูงสุด 100,000 บาทเท่านั้น
     ดังนั้น มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่เลยโฟกัสไปที่ รายการค่าลดหย่อน หรือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” โดยตัวนี้จะเป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นมา (และอาจมีเพิ่มเติมในแต่ละปี) เพื่อตอบโจทย์นโยบายต่างๆ ของรัฐ หรือสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นภาระกับประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้ ให้ได้ใช้สิทธิกันตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนด
     ดังนั้น คำถาม คือ รายการค่าลดหย่อนประจำปีมีมากมาย มนุษย์เงินเดือนควรเลือกแบบไหนดี (ในแง่ของการวางแผนจัดการเงินตัวเองไปด้วย) คำตอบ คือ ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันและการลงทุนที่ต่างๆ ดังนี้
ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันชีวิต
1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไปตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท และในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันสำหรับคู่สมรสจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้ จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาท
2. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  3. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท สำหรับเงื่อนไขประกันชีวิตแบบบำนาญนั้น จะมีเรื่องของระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น รวมถึงต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์อีกด้วย

 ค่าลดหย่อนกลุ่มลงทุน
     1. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเราสามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยนเปอร์เซนต์ (%) ที่กำหนดกับนายจ้างไว้ รวมถึงเลือกแผนการลงทุนได้ตามใจที่ต้องการ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน)
 2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) นำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุน RMF มีระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ตามนี้
     ● ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไข สามารถผิดได้ 1 ปี)
     ● ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้
3. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นำมาลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขในการถือครองหลังจากซื้อไม่น้อยกว่า 10 ปี (เต็ม) และสามารถซื้อได้ตั้งแต่ปี 2563-2567 เป็นต้น